กู้เงินสร้างบ้าน ต้องรู้เรื่องนี้ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง เรามีคำตอบ!
การมีบ้านสักหลังที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ ดีไซน์ตรงใจ บนที่ดินของตัวเอง คงเป็นความฝันของใครหลายๆ คน แต่การสร้างบ้านบนที่ดินของตัวเองมีขั้นตอนและรายละเอียดต่างๆ ที่ยุ่งยากและวุ่นวายมากกว่าการซื้อบ้านจัดสรร ซึ่งอาจจะทำให้หลายคนท้อใจและล้มเลิกความคิดไปได้
แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะวันนี้ทาง The Best Property ได้รวบรวมขั้นตอนการกู้เงินสร้างบ้าน เอกสารที่ต้องใช้ในการกู้เงินทำบ้าน ซื้อที่สร้างบ้าน วิธีเลือกสถาบันการเงินสำหรับกู้เงินสร้างบ้าน กู้เงินสร้างบ้านธนาคารไหนดี พร้อมทั้งวิธีเลือกแบบบ้านให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ และการเตรียมตัวสำหรับคนที่จะกู้เงินปลูกบ้าน ทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องการจะกู้เงินสร้างบ้าน รวมไว้ในบทความนี้ !
1.เตรียมตัววางแผนสร้างบ้าน สำรวจตัวเองและที่ดิน
ก่อนที่จะตัดสินใจกู้เงินสร้างบ้าน อย่างแรกที่ควรจะต้องทำคือการวางแผนและสำรวจความพร้อม โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อหลักๆ ได้แก่
การสำรวจตัวเองก่อนกู้เงินสร้างบ้าน
ก่อนที่จะตัดสินใจกู้เงินสร้างบ้าน สิ่งแรกที่ควรพิจารณาและสำรวจ คือ สภาพคล่องทางการเงินของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น รายรับ รายจ่าย และหนี้สินในแต่ละเดือน เพื่อที่จะได้ทราบว่าตัวเองมีกำลังในการผ่อนในแต่ละเดือนเท่าไหร่ แนะนำให้มีการคำนวณทุกอย่างให้เรียบร้อยก่อนตัดสินใจกู้เงินสร้างบ้าน เพื่อที่จะได้ทราบว่าสภาพคล่องทางการเงินของตัวเองเหมาะกับบ้านราคาประมาณเท่าไหร่ด้วย
โดยขั้นตอนการสำรวจตัวเองก่อนกู้เงินสร้างบ้านนับว่าเป็นขั้นตอนที่ควรทำเป็นขั้นตอนแรก และมีความสำคัญมาก ซึ่งทุกคนควรทำก่อนที่จะตัดสินใจกู้เงินธนาคารสร้างบ้าน เพื่อเป็นการ Make sure ว่าตัวเองมีความพร้อมและสามารถแบกรับภาระที่เพิ่มมากขึ้นได้
การสำรวจที่ดินก่อนกู้เงินสร้างบ้าน
หลังจากที่สำรวจความพร้อมของตัวเองแล้ว ขั้นตอนต่อไปของการเตรียมความพร้อมสำหรับกู้เงินสร้างบ้าน ได้แก่ การสำรวจที่ดิน หรือ พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือการเลือกทำเลที่ตั้งของบ้าน โดยการเลือกทำเลที่ตั้งของบ้านควรเลือกที่เจ้าของบ้านและผู้อยู่อาศัยเดินทางสะดวก ทั้งนี้ทำเลของบ้านแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน
โดยคุณอาจจะคำนึงถึงไลฟ์สไลต์ ที่ทำงาน และสภาพแวดล้อมรอบๆ นอกจากนี้อย่าลืมที่จะพิจารณาราคาของทำเลอีกด้วย เพราะยิ่งคุณเลือกที่ดินกลางเมืองและใกล้สิ่งอำนวยความสะดวกมากเท่าไหร่ ที่ดินก็จะยิ่งมีราคาสูงมาก
2.วางแผนการเงิน การผ่อนและลดหย่อนภาษี
วางแผนการผ่อนสำหรับการกู้เงินสร้างบ้าน
หลังจากที่คุณลองคำนวณค่าใช้จ่ายที่คุณต้องแบกรับเพิ่มในแต่ละเดือนแล้ว คุณอาจจะทดลองผ่อนบ้านก่อนที่จะทำเรื่องขอกู้เงินสร้างบ้านจริงๆ ว่าคุณมีกำลังจ่ายมากพอหรือไม่ ด้วยการทดลองออมเงินในแต่ละเดือนเท่ากับจำนวนเงินที่ต้องจ่ายให้กับสถาบันการเงิน
โดยออมเงินในจำนวนที่ต้องผ่อนบ้าน เช่น ถ้าคุณคำนวณดูแล้วว่าคุณจะกู้เงินสร้างบ้านและผ่อนบ้านเดือนละ 15,000 บาท ก็ให้ลองออมเงิน 15,000 บาททุกเดือน ว่าสามารถทำได้หรือไม่ มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคุณหรือไม่ ซึ่งการทำแบบนี้นอกจากจะช่วยให้คุณรู้สภาพคล่องทางการเงินของคุณแล้ว ยังทำให้คุณมีเงินก้อนจากการออมอีกด้วย
รู้รายละเอียดกฎหมายลดหย่อนภาษีที่เกี่ยวข้องกับการกู้เงินสร้างบ้าน
นอกจากการวางแผนเรื่องการเงินที่ครอบคลุมและรอบคอบแล้ว ผู้ที่มีแพลนจะยืนกู้สร้างบ้านควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับดอกเบี้ย หรือที่เรียกว่า ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งผู้ที่กู้เงินสร้างบ้านสามารถนำมาใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้
โดยกฎหมายกำหนดไว้ว่าผู้ที่กู้เงินสร้างบ้านเพื่อที่อยู่อาศัย สามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้ไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดปีละไม่เกิน 100,000 บาท และในกรณีที่มีคนร่วมกู้กับคุณด้วย ไม่ว่าจะเป็น คู่สมรส พี่ หรือเพื่อน สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ (ค่าลดหย่อนดอกเบี้ย) ได้เฉลี่ยตามจำนวนคนที่ร่วมกู้
เช่นคุณกู้เงินสร้างบ้านร่วมกับพี่สาว ค่าลดหย่อนที่กฎหมายกำหนดไว้สูงสุด คือ 100,000 บาท นั้นหมายความว่า คุณและพี่สาวจะได้สิทธิในการลดหย่อนภาษีคนละ 50,000 บาท แม้ว่าผู้กู้หรือผู้กู้ร่วมจะใช้สิทธิ์ลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านนี้หรือไม่ก็ตาม
คุณสามารถอ่านบทความเกี่ยวกับการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้ที่ ดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษี
3.เลือกแบบบ้านที่ถูกใจ
หลังจากที่ได้ทำการศึกษาหาข้อมูลในขั้นตอนการเตรียมตัว และวางแผนสถานะทางการเงินของตัวเองสำหรับการกู้เงินสร้างบ้านแล้ว ซึ่งจะทำให้คุณทราบสภาพคล่องทางการเงินและงบประมาณของตัวเองแล้ว ต่อไปเป็นขั้นตอนการเลือกแบบบ้านที่ถูกใจ และเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคุณ
แบบบ้านฟรี
เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการควบคุมค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้าน เพราะเราต่างรู้ดีว่าค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้านแต่ละครั้งค่อนข้างสูง ดังนั้นสำหรับผู้ที่ต้องควบคุมงบประมาณในส่วนแบบบ้าน คุณสามารถเลือกใช้แบบบ้านฟรีได้ โดยสามารถหาแบบบ้านฟรีได้จากสำนักเขตของหน่วยงานโยธา หรือ แบบบ้านบนอินเทอร์เน็ต
ทั้งนี้หลังจากเลือกได้แล้วว่าชอบบ้านแบบใด การใช้แบบบ้านฟรีจำเป็นต้องมีวิศวกรออกแบบและควบคุมงานลงชื่อในการยื่นขออนุญาตก่อสร้างด้วย
แบบบ้านสำเร็จรูป
แบบบ้านสำเร็จรูปเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่หลายคนเลือกกัน เพราะมีให้เลือกหลายหลากสไตล์เพื่อให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้านและผู้อยู่อาศัย นอกจากนี้ยังสะดวกและไม่ยุ่งยาก เนื่องจากแบบบ้านสำเร็จรูปจะประกอบไปด้วยแบบสถาปัตยกรรมที่มีฟังก์ชันของอาคารครบครัน และรูปด้านข้างต่างๆ ของตัวบ้าน แต่แบบบ้านสำเร็จรูปอาจจะไม่ตรงตามความต้องการของคุณ 100%
แต่บางบริษัทก็สามารถปรับเปลี่ยนแบบบ้านให้ตรงกับความต้องการของเจ้าบ้านได้ และสำหรับผู้ที่เลือกใช้แบบบ้านสำเร็จรูปอย่าลืมพิจารณาถึงลักษณะและขนาดของที่ดินเปล่า ด้วยว่ามีความกว้างและยาวเท่าไหร่ แบบบ้านที่คุณถูกใจสามารถสร้างบนที่ดินของคุณได้ไหม
แบบบ้านออกแบบใหม่
สำหรับคนที่ต้องการบ้านที่ตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองแบบ 100% ทุกมิติ การออกแบบบ้านใหม่โดยสถาปนิกจะเหมาะมากที่สุด และถ้าหากคุณตัดสินใจให้สถาปนิกออกแบบบ้านให้คุณแล้วอย่าลืมที่จะบอกข้อจำกัด ความต้องการพิเศษ และงบประมาณที่จะใช้สร้างบ้าน เพื่อให้สถาปนิกออกแบบบ้านได้ตรงตามความต้องการของคุณ
4.ขออนุญาตสร้างบ้านและเลือกผู้รับเหมาที่ไว้ใจได้
หลังจากวางแผนทางการเงินและเลือกแบบบ้านได้แล้ว ขั้นตอนต่อไป ได้แก่ การขออนุญาตสร้างบ้านและเลือกผู้รับเหมาที่ไว้ใจได้ โดยการขออนุญาตสร้างบ้านจำเป็นต้องมีเรื่องกฎหมายต่างๆ มาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างใดๆ จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งการขออนุญาตสร้างบ้านเป็นอีกหนึ่งหลักประกันว่า การก่อสร้างบ้านของผู้กู้เงินสร้างบ้านจะไม่ประสบปัญหาใดๆ ย้อนหลัง
นอกจากนี้คุณควรเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างที่ไว้ใจได้ เพราะระหว่างกระบวนการสร้างบ้านมักจะมีปัญหาจุกจิกในการก่อสร้างเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งการเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างที่ดีจะช่วยลดปัญหาในส่วนนี้ลงไปได้ และการเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีเครดิตดี มีความน่าเชื่อถือจะส่งผลต่อการกู้เงินสร้างบ้านทำให้สถาบันการเงินพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายมากขึ้น
5.เตรียมเอกสารสำคัญสำหรับกู้เงินสร้างบ้าน
สำหรับผู้ที่จะกู้เงินสร้างบ้าน ควรเตรียมเอกสารสำคัญที่จำเป็นต้องใช้ในการยื่นเรื่องขอสินเชื่อกู้สร้างบ้านกับสถาบันการเงิน ได้แก่
เอกสารข้อมูลส่วนบุคคล
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
- สำเนาบัตรข้าราชการ หรือ บัตรรัฐวิสาหกิจ (ถ้ามี)
- สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ - สกุล (ถ้ามี)
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนคู่สมรส (ถ้ามี)
- สำเนาทะเบียนบ้านคู่สมรส (ถ้ามี)
เอกสารแสดงรายได้
1.กรณีประกอบอาชีพพนักงานประจำ หรือ มีรายได้ประจำ
- หนังรับรองเงินเดือน
- สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 6 เดือน
- สเตทเม้นเดือนย้อนหลัง 6 เดือน
2.กรณีเจ้าของกิจการ
- สำเนาทะเบียนการค้า หรือ หนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท
- สำเนารายชื่อผู้ถือหุ้น
- รายการเดินบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 12 เดือน
- หลักฐานการเสียภาษี
- สำเนาบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี
- รูปถ่ายกิจการ 4-5 ภาพ พร้อมแผนที่ตั้งบริษัทโดยสังเขป
3.กรณีประกอบอาชีพอิสระ หรือ ผู้ที่ประกอบอาชีพฟรีแลนซ์
- รายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน
- ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เช่น ทนาย สถาปนิก วิศวกร และแพทย์ เป็นต้น
แบบบ้าน
แบบบ้านเป็นอีกหนึ่งเอกสารที่ใช้ยื่นกู้เงินสร้างบ้านที่สำคัญที่ใช้เป็นหลักประกันในการกู้เงินสร้างบ้าน เนื่องจากสถาบันการเงินไม่สามารถประเมินมูลค่าเงินที่ใช้ก่อสร้างจากที่ดินเปล่าได้ การยื่นเอกสารสำคัญพร้อมแบบแปลนบ้านจะช่วยให้สถาบันการเงินประเมินราคาการปล่อยสินเชื่อหรือปล่อยกู้เงินมาสร้างบ้านได้
สัญญาว่าจ้างรับเหมาก่อสร้าง
การจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างนับเป็นอีกหนึ่งในการประเมินงบประมาณค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้าน โดยที่สัญญาว่าจ้างผู้รับเหมาหรือบริษัทรับเหมาก่อสร้างเป็นหลักฐานสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่ช่วยยืนยันว่าเงินที่สถาบันการเงินปล่อยกู้ให้กับผู้กู้เงินสร้างบ้าน จะถูกนำไปใช้ในการสร้างบ้านหรือที่พักอาศัยจริง
โฉนดที่ดิน
ถ้าหากคุณจะทำเรื่องขอกู้เงินสร้างบ้าน แต่ไม่มีโฉนดที่ดิน แน่นอนว่าโอกาสที่สถาบันการเงินจะอนุมัติการปล่อยกู้สินเชื่อเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้โฉนดที่ดินที่จะทำการปลูกสิ่งก่อสร้างไม่จำเป็นต้องมีชื่อของผู้กู้โดยตรง อาจจะเป็นชื่อ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ก็ได้ เช่นเดียวกัน
ใบอนุญาตการก่อสร้าง
แน่นอนว่าการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใดๆ ล้วนมีกฎหมายและข้อบังคับเข้ามาเกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน การขอใบอนุญาตการก่อสร้างเป็นหลักประกันยืนยันว่าการก่อสร้างบ้านของผู้กู้เงินสร้างบ้านจะไม่ประสบปัญหาใดๆ ตามมาภายหลัง และการก่อสร้างนั้นจะไม่มีผลกระทบต่อการปล่อยกู้ โดยใบอนุญาตการก่อสร้างต้องได้รับการรับรองจากเจ้าหน้าที่หรือพนักงานท้องถิ่นเท่านั้น
6.เลือกสถาบันการเงินสำหรับการกู้เงินสร้างบ้านโดยคำนึงปัจจัยต่อไปนี้
ผู้ที่ต้องการกู้เงินสร้างบ้านจากสถาบันการเงิน ควรพิจารณาสถาบันการเงินที่จะขอกู้เงินธนาคารซื้อที่ปลูกบ้าน โดยคำนึงปัจจัยต่อไปนี้
สถาบันการเงินมีที่ตั้งไม่ไกลจากพื้นที่
หลายคนอาจจะมองข้ามการเลือกตำแหน่งที่ตั้งของสถาบันการเงินที่คุณยื่นเรื่องของกู้เงินสร้างบ้านไป แต่ตำแหน่งที่ตั้งของสถาบันการเงินนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญและมีผลต่อการสร้างบ้านในฝันของคุณ เนื่องจากคุณจำเป็นต้องติดต่อยื่นเอกสารต่างๆ และการกู้เงินสร้างบ้านต้องมีการเบิกจ่ายเงินค่าก่อสร้างเป็นงวด
การเลือกสถาบันการเงินที่เดินทางสะดวก จะช่วยให้คุณประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายต่างๆ ลดลงได้ นอกจากนี้การขอกู้เงินสร้างบ้านสถาบันการเงินจำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่มาประเมินหน้างานต่างๆ การเลือกสถาบันการเงินที่ใกล้อาจจะช่วยให้การอนุมัติปล่อยสินเชื่อเงินกู้ได้เร็วมากขึ้น
เลือกสถาบันการเงินที่เรามีสวัสดิการของบริษัท (หากเป็นพนักงานเงินเดือน)
ในกรณีที่บริษัทของคุณมีสวัสดิการเกี่ยวกับการกู้เงินสร้างบ้านกับสถาบันการเงินต่างๆ แนะนำให้ลองศึกษาข้อมูลก่อนเพราะคุณอาจจะได้อัตราดอกเบี้ยต่ำมากกว่า เช่น สวัสดิการกู้ซื้อบ้านข้าราชการกับธอส. สวัสดิการกู้ซื้อบ้านข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจกับธนาคารออมสิน หรือ สวัสดิการกู้ซื้อบ้านกับกรุงไทย เป็นต้น
ทั้งนี้หลังจากที่คุณกู้เงินทำบ้านและสร้างบ้านในฝันของคุณเสร็จเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมที่จะไปแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่นั้นๆ และทำการขอเลขประจำตัวบ้าน ซึ่งต้องทำเรื่องภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันปลูกสร้างเสร็จ ในกรณีที่ไม่ไปแจ้งตามกำหนดจะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
และใครที่มีความสนใจสาระน่ารู้เกี่ยวกับการซื้อ-ขายบ้านต่างๆ สามารถอ่านได้ที่ สาระน่ารู้รวมเรื่องบ้าน ของ The Best Property