บทความความรู้เรื่องบ้าน ค่าใช้จ่ายวันโอนคอนโดที่ควรรู้ มีอะไรบ้าง คำนวณอย่างไร
บทความ
บทความความรู้เรื่องบ้าน

ค่าใช้จ่ายวันโอนคอนโดที่ควรรู้ มีอะไรบ้าง คำนวณอย่างไร

14 พฤศจิกายน 2565

ปัจจุบันหลายๆ คนสนใจอยากจะมีที่พักอาศัยเป็นของตัวเองกันมากขึ้น ซึ่งเวลาเราจะซื้อบ้าน คอนโด ทาวน์โฮมต้องมีการเตรียมความพร้อม วางแผนหาข้อมูลต่างๆ อยู่เสมอ 

แต่สำหรับผู้ที่สนใจอยากเป็นเจ้าของคอนโดบางคนอาจยังไม่ทราบว่า ณ วันที่โอนค่าคอนโด เราจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมด้วย แล้วค่าใช้จ่ายในวันโอนคอนโดมีอะไรบ้าง? The Best property จะพาคุณไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับค่าโอนคอนโดกัน

ค่าโอนคอนโดคืออะไร

ค่าโอนคอนโด คือ ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมนอกเหนือจากค่าซื้อคอนโด ซึ่งต้องชำระในวันที่เราโอนกรรมสิทธิ์ โดยค่าโอนคอนโดในบางโครงการ ผู้ขายอาจมีข้อเสนอพิเศษ ด้วยการไม่คิดค่าโอนคอนโด ซึ่งผู้ที่จะซื้อคอนโดควรตรวจสอบเงื่อนไขดังกล่าวให้ละเอียดว่าคิดค่าโอนคอนโดหรือไม่

ค่าใช้จ่ายวันโอนคอนโดมีอะไรบ้าง?

ค่าใช้จ่ายวันโอนคอนโดนั้นมีอยู่หลายรายการด้วยกัน ทางเราได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับค่าโอนคอนโดว่ามีอะไรบ้างที่ต้องเตรียมตัวจ่าย ดังนี้

ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์คอนโด

ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดเป็นค่าใช้จ่าย 2% ของราคาประเมินกรมที่ดิน แต่ถ้าหากคอนโดมีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยลดให้เหลือเพียง 1% สำหรับผู้ที่ซื้อขายคอนโดภายในปี 2566 เช่น ถ้าซื้อขายคอนโดราคา 3 ล้านบาท ปกติต้องจ่ายค่าโอนกรรมสิทธิ์ 60,000 บาท เหลือจ่ายเพียง 30,000 บาท

ค่าจดจำนอง

โดยค่าจดจำนองเป็นค่าใช้จ่าย 1% ของยอดกู้ซื้อคอนโด แต่ถ้าหากคอนโดมีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยลดให้เหลือเพียง 0.01% สำหรับผู้ที่ซื้อขายคอนโดภายในปี 2566 เช่น ถ้าซื้อขายคอนโดราคา 3 ล้านบาท ปกติต้องจ่ายค่าจดจำนอง 30,000 บาท เหลือจ่ายเพียง 300 บาท

ค่าอากรแสตมป์ หรือ ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ

  • ค่าอาการแสตมป์ มีค่าใช้จ่าย 0.5% ของราคาซื้อขายคอนโด แต่ถ้าจ่ายค่าภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว จะไม่ต้องจ่ายค่าอากรแสตมป์อีก เช่น ถ้าซื้อขายคอนโดราคา 3 ล้านบาท จะต้องจ่ายค่าอากรแสตมป์ 15,000 บาท
  • ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ คิดเป็นค่าใช้จ่าย 3.3% ของราคาซื้อขายคอนโด สำหรับเจ้าของที่ถือครองที่อยู่อาศัยไม่เกิน 5 ปี เช่น ถ้าซื้อขายคอนโดราคา 3 ล้านบาท จะต้องจ่ายค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ 99,000 บาท ถ้าหากจ่ายค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ จะได้รับการยกเว้นค่าอากรแสตมป์ ส่วนเจ้าของที่ถือครองที่อยู่อาศัยเกิน 5 ปี หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเกิน 1 ปี จะไม่ต้องจ่ายค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่จะต้องไปจ่ายค่าอากรแสตมป์แทน
     

ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีค่าใช้จ่ายเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมที่ดินกำหนด โดยจะเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นตามจำนวนปีที่ถือครอง ทั้งแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

 

ใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายวันโอนคอนโด

หลายคนอาจสงสัย และมีคำถามเมื่อเห็นรายละเอียดค่าโอนคอนโดต่างๆ ว่าแบบนี้ใครต้องเป็นคนจ่าย? ในกรณีนี้ผู้ที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายวันโอนคอนโดสามารถเป็นได้ทั้งผู้ซื้อคอนโด และผู้ขาย โดยขึ้นอยู่กับการตกลงกันของทั้งสองฝ่าย 

ทางเราจะมาสรุปให้เข้าใจง่ายขึ้นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายวันโอนคอนโด ว่าแต่ละฝ่ายต้องจ่ายค่าอะไรบ้าง ดังนี้

ผู้ขาย หรือ ผู้ซื้อผู้ซื้อ
1. ค่าธรรมเนียมการโอน1. ค่าจดจำนอง
2.ค่าภาษีเงินได้ 
3.ค่าอากรแสตมป์ หรือ ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ

หมายเหตุ : รายละเอียดค่าใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเป็นหลัก

แนะนำการเตรียมตัวก่อนวันโอนคอนโดต้องทำอย่างไรบ้าง

  1. ตรวจสอบความเรียบร้อยของคอนโดห้องชุด ก่อนเข้าอยู่อาศัยด้วยตนเอง ทั้งระบบไฟฟ้า ระบบน้ำประปา ระบบสายสื่อสาร และอื่นๆ
  2. เตรียมเงินค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือที่ต้องชำระ ทั้งการโอนเงินสด หรือ การกู้ยืมจากธนาคาร หากกู้ยืมจากธนาคารจะต้องประสานงานนัดวันโอนกับทางธนาคารให้ชัดเจนด้วย เพื่อที่ทางธนาคารจะได้นำเงินและเอกสารมาดำเนินการต่อให้ที่กรมที่ดิน
  3. ตรวจสอบเอกสารสำคัญสำหรับการโอนคอนโด เพื่อที่วันโอนจะได้ไม่เกิดปัญหาและกลับมาหาเอกสารเพิ่มเติมใหม่
     

วันโอนคอนโดต้องทำอย่างไรบ้าง

1.ชำระค่าธรรมเนียมการโอน ในบางโครงการจะมีโปรโมชั่นฟรีค่าโอนคอนโด หรือผู้ซื้อขายจ่ายคนละครึ่ง ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่วันทำสัญญา 

  • ค่าธรรมเนียมการโอน
  • ค่าภาษีเงินได้
  • ค่าอากรแสตมป์ หรือ ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ
  • ค่าจดจำนอง

2.รับเอกสารการโอนกรรมสิทธิ์คอนโด โดยเอกสารการโอนกรรมสิทธิ์ประกอบด้วย 

  • เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด 
  • สัญญาซื้อขายห้องชุด
  • ใบเสร็จรับเงิน
  • สัญญาจดจำนอง สำหรับผู้ที่ยื่นกู้ซื้อคอนโดกับธนาคาร
     

ค่าใช้จ่ายหลังเข้าอยู่ที่ควรพิจารณาร่วม

เมื่อทำการซื้อคอนโด ทำเรื่องโอนกรรมสิทธิ์คอนโดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ซื้อคอนโดอาจจะคิดว่าไม่จำเป็นต้องจ่ายอะไรเพิ่ม แต่จริงๆ แล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายที่เมื่อเราเป็นเจ้าของคอนโด หรือเข้าอยู่แล้วต้องเสียเพิ่มอยู่ด้วย จะมีอะไรบ้าง มาดูพร้อมๆ กัน

ค่าส่วนกลาง

เมื่อเราได้กรรมสิทธิ์ถือครองคอนโด และอยู่อาศัยแล้ว จะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเป็นประจำต่อเนื่องทุกปี นั่นคือค่าส่วนกลาง โดยค่าส่วนกลางนี้เราต้องจ่ายเพื่อบำรุงรักษาพื้นที่ใช้สอยส่วนรวมต่างๆ ที่อยู่ภายในคอนโด ซึ่งลูกบ้านสามารถใช้ประโยชน์ได้ เช่น ฟิตเนส สระว่ายน้ำ Co-Working space เป็นต้น

ค่ากองทุน

เงินกองทุนส่วนกลางที่ทางโครงการจะเก็บเพื่อมาใช้บริหารจัดการคอนโด โดยจะทำการเก็บเพียงครั้งเดียว หรือหากในอนาคตอาจมีการเรียกเก็บอีกก็ได้ เพราะอาจมีกรณีที่ต้องนำเงินกองทุนส่วนกลางมาใช้ อย่างไรก็ตามการเก็บเงินกองทุนเพิ่ม จะขึ้นอยู่กับมติของเจ้าของร่วมในขณะนั้น ค่ากองทุนที่เก็บจะคิดจากขนาดพื้นที่ห้อง ราคาห้องชุด สิ่งอำนวยความสะดวก พื้นที่ส่วนกลาง ยิ่งมีมากก็ต้องจ่ายค่ากองทุนมาก

ค่าประกันมิเตอร์น้ำ-ไฟ

เป็นค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายให้กับทางโครงการ ส่วนใหญ่ทางโครงการมักจะเป็นผู้จ่ายเงินค่าประกันมิเตอร์น้ำ-ไฟ ให้ก่อน แล้วจะมาเก็บกับเราภายหลัง ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เก็บจะขึ้นอยู่กับขนาดมิเตอร์ รวมถึงเงื่อนไขที่แต่ละโครงการกำหนด โดยค่าประกันมิเตอร์น้ำ-ไฟ จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 2,000-5,000 บาท

ค่าทำประกันอัคคีภัย

เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่บังคับ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ซื้อคอนโด ซึ่งโดยปกติทางนิติคอนโดจะมีประกันอัคคีภัยอยู่แล้ว แต่อาจไม่ครอบคลุมถึงสิ่งของมีค่าภายในห้อง

เบี้ยประกันอัคคีภัยจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 0.1% ของทุนประกัน แต่ถ้าหากผู้ซื้อกู้ซื้อคอนโดจากธนาคาร จะถูกกำหนดให้ทำประกันอัคคีภัยด้วย โดยธนาคารจะเป็นผู้รับผลประโยชน์ และจะเรียกเก็บตามอัตรามาตรฐาน 3 ปีต่อ 1 ครั้ง

ค่าประกันภัยอาคาร

ค่าประกันภัยอาคารเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ซื้อคอนโด จะต้องจ่ายร่วมกันกับนิติคอนโด โดยค่าใช้จ่ายจะคิดตามขนาดพื้นที่ของห้อง แบ่งออกเป็น 

  • ประกันภัยอาคารส่วนกลาง ที่จะให้ความคุ้มครองความเสียหายของพื้นที่ส่วนกลางคอนโด จากเหตุไม่คาดฝันต่างๆ ซึ่งนิติคอนโดจะมีประกันนี้อยู่แล้ว
  • ประกันภัยสำหรับบุคคลที่ 3 เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่ซื้อคอนโด เนื่องจากให้ความคุ้มครองชีวิตและความเสียหายจากตัวเจ้าของห้อง ที่ส่งผลกระทบถึงผู้อื่น 
     

ปิดท้าย

สำหรับใครที่ซื้อคอนโดไปแล้วอาจคิดว่าค่าใช้จ่ายจะจบที่ราคาซื้อเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วยังมีค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดที่จะต้องจ่ายเพิ่มเติม โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะอยู่ที่เงื่อนไขของคอนโดว่าจะคิดค่าใช้จ่ายส่วนนี้หรือไม่ หากคิดค่าใช้จ่ายผู้ซื้อก็จะต้องรับค่าใช้จ่ายเอง แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องจ่ายคนเดียวหมดเพราะบางรายการขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายด้วย

หากอ่านบทความนี้แล้วยังมีข้อสงสัย หรือมีความสนใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับคอนโด และที่อยู่อาศัยอื่นๆ  สามารถอ่านบทความ สาระน่ารู้เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือปรึกษาเราเกี่ยวกับบ้าน ที่อยู่อาศัย และที่ดินได้ที่ The Best Property ผู้นำด้านการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท