บทความความรู้เรื่องบ้าน ตรวจบ้านเองยังไง มาดูวิธีตรวจรับบ้าน-คอนโดเอง ประหยัดเงินได้อีก
บทความ
บทความความรู้เรื่องบ้าน

ตรวจบ้านเองยังไง มาดูวิธีตรวจรับบ้าน-คอนโดเอง ประหยัดเงินได้อีก

21 พฤศจิกายน 2565

 

 

ขั้นตอนการตรวจบ้านก่อนเซ็นรับโอนบ้านเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญ และเจ้าของบ้านก็ควรให้ความสำคัญมากๆ ไม่แพ้ขั้นตอนอื่นๆ เพราะถ้าหากเซ็นรับบ้านไปแล้วคุณจะไม่สามารถให้ทางโครงการแก้ไขให้ได้ หรือ ถ้าร้องขอให้แก้ไขได้ก็จะค่อนข้างยุ่งยากเลยทีเดียว โดยขั้นตอนการตรวจบ้านก่อนโอนเป็นการตรวจสภาพบ้าน และเช็คตามจุดต่างๆ ภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็น โครงสร้างบ้าน ระบบน้ำ ระบบไฟ พื้นห้อง เพดาน และบริเวณรอบบ้าน 

ซึ่งในปัจจุบันการตรวจรับบ้านก่อนโอนคุณสามารถทำได้ด้วยการว่าจ้างบริษัทรับตรวจบ้านโดยจะมีราคาเริ่มตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น แต่สำหรับครอบครัวไหนหรือผู้ที่ไม่อยากเสียเงินหลายหมื่นบาท อยากประหยัดค่าใช้จ่ายสามารถตรวจบ้านได้ด้วยตนเองง่ายๆ แบบไม่ต้องเสียเงินเพิ่มด้วยวิธีตรวจรับบ้าน-คอนโดใหม่ด้วยตัวเอง ที่ทาง The Best Property ได้รวบรวมไว้ที่ในบทความนี้

เปรียบเทียบการตรวจรับบ้านด้วยตัวเองกับการจ้างสถาปนิก
 

เพราะขั้นตอนตรวจรับบ้านใหม่เพื่อลงนามรับโอนบ้านเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้หลายคนที่ซื้อบ้านใหม่เลือกที่จะใช้บริการตรวจบ้านจากบริษัทเอกชนเพื่อความสบายใจ ซึ่งราคาค่าตรวจบ้านในปัจจุบันมีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น ขนาดพื้นที่ใช้สอย (คิดเป็นตารางเมตร) และประเภทบ้าน เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮม คอนโด และบ้านมือสอง โดยส่วนใหญ่นิยมตรวจบ้าน 3 ครั้ง และราคาค่าจ้างจะแยกเป็นครั้งๆ ทำให้ค่าใช้จ่ายในขั้นตอนนี้ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว

แต่ความจริงแล้วคุณสามารถตรวจบ้านและคอนโดได้ด้วยตนเองได้ง่ายๆ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ที่สำคัญวิธีการตรวจรับบ้านก่อนโอนไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่หลายๆ คนคิด เพียงแค่คุณอาจจะต้องวางแผน ทำแบบฟอร์มตรวจรับบ้านก่อนโอน เตรียมอุปกรณ์ และศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน โดยทาง The Best Property ได้เตรียมไว้ให้คุณแล้ว  

รวม checklist รายการที่ต้องตรวจสอบก่อนเซ็นรับบ้านหรือทาวน์โฮม ด้วยตนเอง
 

ต้องการตรวจบ้านหรือทาวน์โฮมด้วยตัวเองต้องตรวจอะไรบ้าง ? สำหรับผู้ที่ต้องการตรวจบ้าน หรือ ทาวน์โฮมด้วยตัวเองเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายสามารถปฏิบัติตาม checklist ที่ทางทีมงานเตรียมไว้ให้ข้างล่างนี้ 

ตรวจสอบระบบไฟภายในบ้าน
 

การตรวจสอบระบบไฟภายในบ้านเป็นการตรวจสอบว่าสวิตช์และเต้ารับทุกจุดภายในบ้านสามารถใช้งานได้จริง แนะนำให้ใช้เครื่องตรวจสอบเบรกเกอร์ตัดไฟรั่วไหล หรือ ELCB Tester เพื่อทดสอบว่าระบบไฟภายในบ้านสามารถจ่ายไฟได้ปกติหรือไม่ พร้อมทั้งทดสอบความถูกต้องของการเดินสายไฟ สายดิน และระบบตัดไฟ  

ทั้งนี้การใช้อุปกรณ์ตรวจสอบระบบไฟภายในบ้านอย่าลืมศึกษาวิธีการใช้อย่างละเอียดเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน 

ตรวจสอบระบบน้ำภายในบ้าน
 

การตรวจสอบระบบน้ำภายในบ้านแบ่งออกเป็น 3 ที่หลักๆ ได้แก่ 

  • ห้องน้ำ ตรวจสอบการรั่วซึมและแรงดันของก๊อกน้ำ ฝักบัว และชักโครก พร้อมทั้งเช็คว่าชักโครกตันหรือมีกลิ่นไม่พึงประสงค์หรือไม่ ตรวจสอบความลาดเอียงของพื้นในห้องน้ำเพื่อดูว่าน้ำสามารถระบายลงท่อได้ และไม่ท่วมขังในห้องน้ำ 
  • ระบบท่อ ตรวจสอบระบบท่อว่ามีรอยแตกร้าว รั่วซึม และมีการต่อท่อไปบ่อพักหรือไม่ และอย่าลืมที่จะสังเกตกลิ่นไม่พึงประสงค์เมื่อราดน้ำลงท่อ 
  • มิเตอร์น้ำ ตรวจสอบว่าระหว่างที่ไม่ได้ใช้น้ำ เข็มมิเตอร์น้ำทำงานหรือไม่
     

ตรวจสอบโครงสร้างและผนังห้อง
 

ผนังและโครงสร้างบ้านต้องไม่มีรอยแตกร้าว และผนังบ้านควรเรียบได้ระนาบเดียวกัน ถ้าหากพบเห็นรอยแตกร้าว หรือตำหนิตามผนังหรือโครงสร้างให้คุณหาโพสอิทมาแปะไว้ เพื่อให้ทางโครงการดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อยก่อนเซ็นรับโอนบ้าน และในกรณีที่ผนังติดวอลล์เปเปอร์ให้ใช้ไฟฉายส่องเพื่อดูความเรียบเนียนของวอลล์เปเปอร์ 

ตรวจสอบพื้นบ้าน
 

ถ้าหากพื้นบ้านปูด้วยกระเบื้องสามารถทดสอบพื้นบ้านได้ด้วยการเคาะเพื่อฟังเสียงด้วยค้อนยางหรือไขควงไม้ ถ้ากระเบื้องแผ่นไหนเคาะแล้วมีเสียงแตกต่างจากกระเบื้องแผ่นอื่นๆ หรือ เคาะแล้วกระเบื้องสั่น นั้นหมายความว่าปูนกาวของกระเบื้องแผ่นนั้นๆ ไม่แน่นพอ และที่สำคัญกระเบื้องต้องไม่แตกร้าวและไม่แอ่น นอกจากนี้ในกรณีที่ปูพื้นด้วยไม้ลามิเนต หรือ พื้นไม้ พื้นต้องเรียบระนาบเท่ากัน ไม่บวม และไม่โก่ง

ตรวจสอบเพดานบ้าน
 

เพดานทั้งแผ่นต้องเรียบเนียน ไม่แอ่น หรือ โก่งงอ สีที่ทาต้องเรียบเนียนทั้งแผ่นไม่มีบริเวณที่สีโดดออกมา และไม่เลอะคราบปูน นอกจากนี้อย่าลืมตรวจสอบการรั่วซึมของฝ้าเพดาน พร้อมทั้งเช็คความเรียบร้อยของการเดินสายไฟ

ตรวจสอบหลังคาบ้าน
 

การตรวจสอบการรั่วซึมของน้ำจากหลังคาเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญของการตรวจบ้าน โดยสังเกตจากคราบน้ำที่เพดาน หรือ รอยหยดน้ำที่พื้น ถ้าหากหลังคาบ้านรั่วซึมจะถือว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่และแก้ค่อนข้างยาก และตรวจว่าได้มีการติดตั้งฉนวนกันความร้อนเต็มพื้นที่ตามที่ตกลงหรือไม่ 

ตรวจสอบประตูหน้าต่าง
 

ควรเช็คประตูและหน้าต่างทั้งหมดของตัวบ้าน ไม่ว่าจะเป็น บานพับ กลอน และวงกบ ว่าสามารถใช้งานได้ปกติ ปิดได้สนิท เลื่อนแล้วไม่ติดขัด พร้อมทั้งเช็คว่าตัวบานประตูและหน้าต่างขูดกับพื้นหรือเพดานหรือไม่ 

ตรวจสอบบันได
 

ควรตรวจว่าตัวราวบันไดติดตั้งในตำแหน่งที่จับได้ถนัดและแข็งแรงไม่โยกเยกไปมา พร้อมทั้งเช็คว่าเวลาเหยียบพื้นบันไดแล้วพื้นไม่ยุบลง ถ้าหากพื้นบันไดยุบลงต้องให้ทางโครงการดำเนินการแก้ไขทันที และพื้นบันไดทุกขั้นต้องมีขนาดเท่ากัน 

ตรวจสอบรอบตัวบ้าน
 

ขั้นตอนการตรวจบ้านขั้นตอนสุดท้าย คือ การตรวจสอบรอบตัวบ้าน โดยรอบตัวบ้านต้องไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ บริเวณลานจอดรถต้องไม่พบร่องรอยการทรุดตัวของพื้น พร้อมทั้งตรวจสอบประตูรั้วโครงสร้างประตูต้องแข็งแรง ทนทาน  บานเลื่อนและล้อต้องไม่ฝืดหรือลื่นเกินไป 

รวม checklist รายการที่ต้องตรวจสอบก่อนตรวจรับคอนโด ด้วยตนเอง
 

สำหรับครอบครัวที่ตัดสินใจซื้อคอนโด ก็จำเป็นที่จะต้องตรวจเช็คสภาพก่อนเซ็นรับเช่นเดียวกัน โดยสามารถปฏิบัติตาม checklist ตรวจบ้านตรวจรับคอนโดที่ทางทีมงาน The Best Property เตรียมไว้ให้ข้างล่างนี้

ตรวจสอบระบบไฟในคอนโด
 

การตรวจระบบไฟคอนโดมีวิธีเหมือนกับการตรวจระบบไฟของบ้านหรือทาวน์โฮม โดยตรวจสอบว่าสวิตช์และเต้ารับทุกจุดภายในห้องสามารถใช้งานได้จริง พร้อมทดสอบความถูกต้องของการเดินสายไฟ สายดิน และระบบตัดไฟ 

แต่ว่าคอนโดบางที่อาจจะมีระบบไฟอัตโนมัติมาให้ หรือ ระบบ WiFi มาให้ อย่าลืมเช็คระบบเหล่านั้นว่าสามารถใช้งานได้หรือไม่

ตรวจสอบระบบน้ำในคอนโด
 

คอนโดหลายแห่งมักจะมีปัญหาที่ระบบน้ำ น้ำรั่ว น้ำซึม หรือน้ำขัง เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบว่ามีรอยรั่วซึมหรือไม่ ทั้งบริเวณห้องน้ำ พื้นที่ครัว และก๊อกน้ำทุกจุด และอย่าลืมที่จะเช็คว่าชักโครกสามารถใช้งานได้หรือไม่ และเช็คความเร็วในการระบายน้ำของรูระบายและอ่างล้างหน้าด้วย 

ตรวจสอบผนังห้องคอนโด
 

ผนังไม่ควรมีรอยแตกร้าว รอยไม่เรียบเนียนที่มีสาเหตุมาจากการฉาบปูน หรือ การทาสี โดยส่วนใหญ่แล้วผนังคอนโดมักจะเป็นการติดวอลล์เปเปอร์ ไม่ควรพบรอยฉีกขาดหรือรอยร้าว นอกจากนี้คุณสามารถใช้ไฟฉายส่องเพื่อดูความเรียบเนียนของวอลล์เปเปอร์ได้ 

ตรวจสอบพื้นคอนโด
 

ในปัจจุบันคอนโดส่วนใหญ่มักจะทำมาจากพื้นไม้ หรือ พื้นลามิเนต เพราะฉะนั้นให้ตรวจสอบว่าพื้นมีการลาดเอียงหรือไม่สม่ำเสมอหรือไม่ รวมไปถึงเช็คว่ามีพื้นบริเวณไหนที่โก่ง บวม หรือแตกร้าว ถ้าหากพบตำหนิให้แจ้งโครงการเพื่อดำเนินการแก้ไขทันที 

ตรวจสอบเพดาน
 

สำหรับการตรวจสอบเพดานของคอนโด ให้ตรวจสอบว่ามีบริเวณไหนที่มีรอยรั่วซึมและรอยคราบน้ำซึม โดยอาจจะสังเกตที่บริเวณพื้นร่วมด้วยว่ามีคราบน้ำหยดหรือไม่ และไม่ควรมีร่องรอยของปูนจากการฉาบปูน หรือ ทาสีไม่เรียบเนียน

ตรวจสอบช่องเปิดตามจุดต่างๆภายในห้อง
 

ตรวจสอบประตู หน้าต่าง และวงกบทุกจุดภายในห้องว่าสามารถใช้งานได้ปกติ เลื่อนแล้วไม่ติดขัด สามารถปิดสนิทได้หรือไม่ ระหว่างที่เปิดปิดไม่ขูดเพดานหรือผนัง และเช็คว่าเมื่อฝนตกบริเวณหน้าต่างมีการรั่วซึมเข้ามาที่ห้องหรือไม่

ตรวจสอบเฟอร์นิเจอร์
 

ส่วนใหญ่โครงการมักจะแถมเฟอร์นิเจอร์บางอย่างมาให้ หรือ บางโครงการอาจจะเป็นเฟอร์นิเจอร์พร้อมอยู่ เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่ซื้อคอนโดอย่าลืมตรวจสอบสภาพเฟอร์นิเจอร์ที่โครงการแถมมาให้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น เตียงนอน ตู้เสื้อผ้า เคาน์เตอร์ โต๊ะ เก้าอี้ แอร์ และเครื่องดูดควัน เป็นต้น 

 

ตรวจสอบบ้านมือสองทำอย่างไร
 

สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านมือสองก็จำเป็นที่จะต้องตรวจบ้านก่อนเซ็นรับโอนบ้านเช่นเดียวกับบ้านมือหนึ่ง หรือ คอนโด ซึ่งคุณสามารถตรวจบ้านได้ด้วยตัวเอง โดยจะมีรายละเอียดการตรวจบ้านมือสองจะคล้ายกับการตรวจบ้าน หรือ ทาวน์โฮมทั่วไป เพียงแต่เพิ่มการดูแบบแปลนเดิมควบคู่กับที่ต่อเติมบ้านเพิ่มว่ามีอะไรที่เสียหาย หรือ ชำรุด และจำเป็นต้องแก้ไขก่อนเซ็นรับโอนบ้านหรือไม่ 

ขั้นตอนการตรวจรับบ้าน เตรียมความพร้อมก่อนชัวร์กว่า
 

แม้ว่าขั้นตอนการตรวจรับบ้านจะดูมีหลายขั้นตอนและต้องใช้ความรอบคอบในการตรวจ แต่ถ้าหากคุณมีการ เตรียมพร้อมที่ดี การตรวจบ้านก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ตรวจบ้านด้วยตัวเอง ควรเตรียมความพร้อมก่อนที่จะถึงวันตรวจบ้านจริงๆ โดยสิ่งที่ต้องเตรียมมีดังนี้ 

เตรียมตัวให้พร้อมก่อนไปตรวจรับบ้าน
 

แนะนำว่าการตรวจบ้านควรเริ่มตั้งแต่ตอนเช้าที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพราะการตรวจบ้านแต่ละครั้งค่อนข้างใช้เวลา ถ้าหากคุณนัดกับทางโครงการหรือผู้ขายตอนบ่าย การตรวจบ้านอาจจะลากยาวไปจนถึงช่วงค่ำที่มีแสงไม่เพียงพอส่งผลให้การตรวจยากลำบาก ซึ่งหลังจากที่ได้นัดวันกับทางโครงการเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมแจ้งอุปกรณ์ตรวจรับบ้านที่ต้องใช้ เช่น บันได หรืออุปกรณ์ชิ้นใหญ่อื่นๆ 

ทั้งนี้การตรวจบ้านด้วยตนเองคุณอาจจะไม่จำเป็นต้องปืนไปดูบนหลังคา แต่ใช้วิธีสอบถามระบบการก่อสร้างหรืออ้างอิงจากคุณภาพงานก่อสร้างโดยรวมแทนได้เช่นเดียวกัน 

เตรียมอุปกรณ์เสริมช่วยตรวจรับบ้าน
 

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมสำหรับการตรวจบ้านด้วยตัวเอง ได้แก่ 

  • ปากกาและสมุดโน๊ต สำหรับจดรายละเอียดต่างๆ 
  • กระดาษโพสอิท สำหรับมาร์กจุดที่ต้องการให้ทางโครงการหรือผู้ขายแก้ไข 
  • ตลับเมตรหรือสายวัด สำหรับวัดพื้นที่ว่าตรงกับแบบบ้านหรือไม่ 
  • ไฟฉาย สำหรับส่องเพื่อเช็คสีและความเรียบของผนัง ฝ้าเพดาน และพื้น 
  • ถังน้ำหรือสายยาง สำหรับทดสอบการรั่วซึมตามบริเวณต่างๆ เช่น หน้าต่าง ขอบยางประตู และการระบายน้ำ 
  • ถุงพลาสติกหรือดินน้ำมัน สำหรับปิดรูระบายน้ำ เพื่อตรวจว่ามีการรั่วซึมในห้องน้ำหรือไม่ 
  • เหรียญสิบหรือค้อนยาง สำหรับใช้เคาะกระเบื้องเพื่อเช็คว่ากระเบื้องหลวมหรือไม่ 
  • เครื่องตรวจสอบเบรกเกอร์ตัดไฟรั่ว สำหรับเช็คระบบไฟและความผิดปกติของเต้ารับ 
     

ตรวจรับบ้านตามเช็คลิสต์ที่เตรียมไว้
 

หลังจากที่ทำการนัดหมายวันและเวลาตรวจบ้าน พร้อมทั้งเตรียมรายการตรวจรับบ้าน (checklist) และ อุปกรณ์สำหรับตรวจบ้านรับบ้านด้วยตัวเองเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือขั้นตอนของการตรวจบ้านจริง โดยให้ตรวจบ้านตาม checklist และ แพลนที่วางไว้ โดยรายละเอียดในการตรวจบ้านหลักๆ ได้แก่ 

  1. ตรวจโครงสร้างบ้าน
  2. ตรวจฝ้าเพดาน และ หลังคา 
  3. ตรวจผนัง และ พื้น
  4. ตรวจระบบน้ำ และ ระบบไฟ 
  5. ตรวจประตู หน้าต่าง และ บันได
  6. ตรวจบริเวณรอบบ้าน เช่น ประตูรั้ว ที่จอดรถ และ สวนรอบบ้าน 
     

สรุปรายละเอียดและส่งแก้ไขหากมีจุดบกพร่อง
 

หลังจากที่คุณตรวจบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรมีการจดบันทึก ถ่ายรูปจุดที่ต้องซ่อมแซม และทำเป็นเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจนเกี่ยวกับซ่อมแซมบ้านที่ยังไม่ได้มาตรฐานตามที่ตกลงกันก่อนหน้า พร้อมทั้งส่งมอบเอกสารการตรวจบ้านให้โครงการหรือผู้ขายเพื่อดำเนินการซ่อมแซม

ในกรณีที่ทางโครงการหรือผู้ขายขอให้มีการเซ็นรับโอนบ้านก่อนแล้ว จะดำเนินการซ่อมแซมให้ภายหลัง แนะนำให้มีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับการซ่อมแซมบ้านหลังจากเซ็นสัญญารับโอนบ้านให้ชัดเจน หรือ คุณอาจจะบอกกับทางโครงการหรือผู้ขายว่าต้องการให้มีการซ่อมแซมให้เสร็จเรียบร้อยก่อนจึงจะเซ็นรับบ้านก็ได้เช่นเดียวกัน 

ทั้งนี้หลังจากที่เซ็นสัญญารับโอนบ้านเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการตกแต่งบ้านและย้ายเข้ามาอยู่บ้านหลังใหม่ ซึ่งยังมีอีกหนึ่งอย่างที่สำคัญและช่วยเสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่เจ้าบ้านและผู้อยู่อาศัย คือ พิธีขึ้นบ้านใหม่ ที่เป็นพิธีกรรมที่อยู่คู่กับชาวพุทธและคนไทยมาอย่างยาวนาน สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บทความ ขึ้นบ้านใหม่ คลิก 

จริงๆ แล้วการตรวจบ้าน ตรวจคอนโดด้วยตัวเอง ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่หลายๆ คนคิด ไม่ว่าใครก็สามารถทำได้ ถ้าหากมีการเตรียมตัวเตรียมความพร้อมที่ดี ไม่ว่าจะเป็น เช็คลิสต์ตรวจรับบ้าน และ อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับตรวจบ้าน คุณก็สามารถตรวจบ้านได้ด้วยตัวเอง ซึ่งการตรวจบ้านด้วยตัวเองจะช่วยให้คุณประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้หลายบาทเลยทีเดียว เพราะค่าบริการจ้างตรวจบ้านค่อนข้างที่จะมีราคาสูงและต้องตรวจหลายรอบ โดยปกติส่วนใหญ่จะตรวจบ้านประมาณ 3 รอบ 

สำหรับใครที่มีความสนใจสาระน่ารู้เกี่ยวกับการซื้อบ้านต่างๆ และไม่อยากพลาดสาระดีๆ สามารถอ่านได้ที่ สาระน่ารู้รวมเรื่องบ้าน ของ The Best Property ที่นี่